Void Cube รูบิคที่ไร้แกน

เพื่อนๆ เคยนึกภาพรูบิคที่ไร้แกนได้ไหมครับ ชนิดที่ว่า สามารถเอานิ้วแหย่เข้าไปตรงชิ้นแกน แล้วทะลุไปอีกฝั่งนึง เห้ย! มันจะมีเหรอ รูบิคประหลาดแบบนั้น

รูบิคไร้แกนมีอยู่จริงๆ

คำตอบคือ “มี” ครับ รูบิคชนิดนี้ มีชื่อเรียกว่า “Void Cube” ถูกคิดค้นโดย Katsuhiko Okamoto และ Gentosha Education จากประเทศญี่ปุ่น Void Cube นั้นก็มีลักษณะเหมือนรูบิค 3×3 ทั่วไปครับ เพียงแต่ มันไม่มีชิ้นแกน หรือชิ้น Center นั่นเอง พูดง่ายๆก็คือ เพื่อนๆจะต้องจินตนาการเอาเองว่า ตรงรูนั่นเป็นแกนสีอะไร

เล่นยากไหม

วิธีเล่น Void Cube นั้น ก็เหมือนกับ วิธีเล่นรูบิค 3×3 เลยครับ เพียงแต่เพื่อนๆ ต้องจินตนาการเอาเองว่าชิ้นแกนชิ้นนั้นเป็นสีอะไร และอีกอย่างหนึ่งที่ต้องรู้คือ ในการบิดให้ครบ 6 หน้า บางครั้ง จะมี Parity เกิดขึ้น Parity ก็คือ กรณีที่ เมื่อทำไปถึงขั้นตอนสุดท้ายแล้ว จะมีชิ้นขอบ 2 ชิ้นที่ยังสลับกันหรือยังอยู่ไม่ตรงตำแหน่ง และไม่สามารถใช้วิธีแบบปกติในการแก้ได้ ซึ่งวิธีการแก้ Parity นั้น ผมจะได้กล่าวไปในบทความหน้าครับ

ถ้าใช้รูบิค 3x3 ปกติจะเหมือนกันหรือไม่

สำหรับ Void Cube นั้น ถ้าเพื่อนๆไม่อยากซื้อ Void Cube เพื่อนๆสามารถใช้ 3×3 เล่นได้ครับ เพื่อนๆก็แค่ เอาสติ๊กเกอร์ตรงชิ้นแกนออกทุกชิ้น แค่นี้รูบิคของเพื่อนๆ ก็กลายเป็น Void Cube แล้วล่ะครับ เพียงแต่ว่า “มันไม่มีรู” ดังนั้นถ้าอยากได้ประสบการณ์การเล่น Void Cube จริงๆ ก็ซื้อเอาดีกว่าครับ ขอบอกว่าโคตรถูก และที่สำคัญ โคตรฝืดครับ ตัวผมเองมีอยู่ลูกนึงครับ ได้มาจากห้า Big C ครับผม ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าตอนนี้ ยังมีเหลือรึป่าว

Void Cube แบบลื่น มีไหม

อย่างที่บอกไปครับว่า Void Cube เนี่ย เป็นรูบิคที่สุดยอดแห่งความฝืดเลย แต่จริงๆแล้ว Void Cube แบบ Speed Cube ก็มีครับ แต่อาจจะหาซื้อในไทยได้ยากนิดนึง ไม่รู้สิครับ อาจจะมีแต่ผมยังหามันไม่เจอก็ได้ ด้วยความที่ Void Cube คงไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อเน้นแข่งขัน แต่จะเน้นตรงที่ความแปลกใหม่ของรูบิคมากกว่า เรื่องความเร็ว คงไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาเครียดกัน

เอาล่ะครับ จากที่ได้ทำความรู้จักเจ้า Void Cube ไปแล้ว สำหรับเพื่อนๆ ที่อยากลองเล่น ก็ลองไปหาซื้อดูครับ เมื่อซื้อมาแล้วก็ลองเล่นไปก่อน อาจโชคดีไม่เจอ Parity ผมเองก็เพิ่งมาเจอ Parity ตอนหาข้อมูลทำบทความเรื่องนี้นี่แหละครับ เพราะตั้งแต่ซื้อมาก็เล่นไม่ถึง 10 ครั้ง เลยเพิ่งมารู้ว่า วิธีเล่นของมัน ต่างกับ 3×3 ตรงที่มี Parity ด้วย สำหรับบทความหน้านั้น เราจะมาพูดถึงวิธีการเล่น Void Cube อย่างละเอียดกันครับ