ขอคั่นบทความซีรี่ย์ ZBF2L ด้วยบทความนี้หน่อยนะครับ เนื่องจากมีคำถามเข้ามาในเรื่องของวิธีการจำ Notation ว่ามีเทคนิคการจำอะไรยังไงบ้าง ผมจึงขอใช้พื้นที่ในบทความนี้เป็นคำตอบครับ
ความสำคัญของ Notation
เชื่อว่าผู้ที่ไม่รู้ในเรื่องของ Notation หรือ สัญลักษณ์ในการบิดรูบิค คงจะหัวเสียไม่น้อย เมื่อพยายามค้นหาวิธีการเล่นใหม่ๆทาง Google ซึ่งแน่นอนว่า เว็บส่วนใหญ่จะเป็นของต่างประเทศ ยังไม่พอครับเว็บพวกนี้ก็มักจะใช้สัญลักษณ์ในการแสดงสูตร ผู้ที่ไม่รู้เหล่านั้นคงบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า “แสดงสูตรเป็นลูกศรไม่ได้หรือไงฟะ!!!” 555 จะว่าพวกเขาก็ไม่ได้หรอกครับ เพราะการใช้สัญลักษณ์มันง่ายกว่า อีกทั้งยังเป็นมืออาชีพกว่าอีกด้วย และนั่นล่ะครับความสำคัญของ Notation คือมันจะทำให้เพื่อนๆค้นหาวิธีการเล่นแบบใหม่ๆได้ง่ายและมากขึ้นกว่าเดิมครับ
Notation จำยากมากจริงหรือ?
สำหรับผมแล้ว ตอนแรกผมก็คิดว่ายากเหมือนกันครับ แต่พอได้ลองจำดูจริงๆ มันง่ายยิ่งกว่าปลอกกล้วยเข้าปากซะอีก ดังนั้นตอนนี้ผมขอตอบว่า ไม่จริงครับ Notation จำง่ายมากกกกก เอาล่ะครับที่มันจำง่ายก็เพราะมีเทคนิคอีกนั่นแหละครับ ก็เหมือนอย่างเช่นเคย เกิดจากการลองผิดลองถูกของตัวผมเอง ซึ่งอาจจะไม่ถูกต้องตามคอนเซปต์ที่แท้จริง แต่รับรองว่ามันจะช่วยให้เพื่อนๆจำ Notation ได้อย่างแน่นอน ซึ่งแน่นอน ผมจะถ่ายทอดมันลงในบทความนี้ครับ
เทคนิคการจำ Notation
เทคนิคในการจำ Notation ของผมนั้น เกิดจากการนำสัญลักษณ์ Notation มาแปลงเป็นคำศัพท์ภาษาอังกฤษครับ ไม่ต้องตกใจครับ มันเป็นแค่คำศัพท์พื้นฐานเท่านั้น ไม่ยากครับ ไม่ยาก แล้วผมก็จะจำทางหลักของแต่ละประเภทสัญลักษณ์ (ไม่รู้ว่าเขาเรียกว่าอะไรผมขอเรียกว่าทางหลักแล้วกัน) จากนั้นก็ต่อด้วยการจำทางที่จะไปของสัญลักษณ์เพิ่มเติมครับ (เช่น ‘,2,w)
แปลงสัญลักษณ์เป็นคำศัพท์
เอาล่ะครับเรามาแปลงสัญลักษณ์ให้เป็นภาษาอังกฤษก่อนเลยแล้วกัน
U = UP = บน ก็คือชั้นบนนั่นเอง
D = DOWN = ล่าง ก็คือชั้นล่าง
R = RIGHT = ขวา ก็คือด้านขวา
L = LEFT = ซ้าย ก็คือด้านซ้าย
F = FACE = หน้า ก็คือด้านหน้า
B = BACK = หลัง ก็คือด้านหลัง
M = MIDDLE = กลาง ก็คือตรงกลาง
*Y = ผมไม่รู้ว่าจะแปลเป็นคำศัพท์ไหนดี แต่ผมจะจับคู่ Y กับ U
*X = เช่นเดียวกับ Y แต่ผมจะจับคู่ X กับ R
*Z = เช่นเดียวกับ X แต่ผมจะจับคู่ Z กับ F
*ที่จับคู่ไว้คือ มันจะหมุนแบบเดียวกับคู่ของมัน แต่จะต่างกันตรงที่ ในขณะที่ U R F หมุนแค่ชั้นเดียวนั้น X Y Z จะหมุนไปทั้งลูก แต่จะไปในทิศทางเดียวกันครับ ดูรูปจากบทความ “สัญลักษณ์ในการบิดรูบิค” ประกอบเพื่อความเข้าใจ*
ทางหลักของแต่ละประเภทสัญลักษณ์
เมื่อแปลงสัญลักษณ์เป็นศัพท์แล้ว ต่อไปเรามาดูทางหลักของแต่ละปะเภทสัญลักษณ์กันเลยครับ
U ไปทางซ้าย
D ไปทางขวา
R ขึ้นบน
L ลงล่าง
F หมุนไปขวา
B หมุนไปซ้าย
M ลงล่าง
Y เหมือน U
X เหมือน R
Z เหมือน F
*จะเห็นว่าประเภทที่ตรงกันข้ามกันจะมีทางหลักที่ตรงข้ามกันนะครับ เช่น บนไปซ้าย ล่างไปขวา , ขวาขึ้นบน ซ้ายลงล่าง , หน้าหมุนขวา หลังหมุนซ้าย เป็นต้นครับ*
ทางไปของสัญลักษณ์เพิ่มเติม
ต่อไปเรามาดูทางที่จะไปของสัญลักษณ์เพิ่มเติมกันต่อเลยครับ สัญลักษณ์เพิ่มเติมก็คือ “ ‘,2 w ” ที่มันจะต่อด้านหลังของสัญลักษณ์ที่เป็นตัวอักษรนะครับ
‘ คือ ไปตรงข้ามกับทางเดิม เช่น U ไปทางซ้าย U’ จะไปทางขวา , F หมุนไปขวา F’ หมุนไปซ้าย เป็นต้นครับ
2 คือ บิด 2 ครั้งครับ
W คือ บิดชั้นกลางเพิ่มไปด้วย เช่น R คือ บิดขวาขึ้น ถ้ามี w ตามหลัง ให้บิดชั้นกลางที่ติดกันขึ้นไปด้วย (ดูภาพประกอบ)
บทส่งท้าย
จบแล้วครับกับเทคนิคพิเศษในการจำ Notation ผมหวังว่ามันจะช่วยให้เพื่อนๆที่ยังจำ Notation ไม่ได้ สามารถใช้เทคนิคนี้ช่วยในการจำ เพื่อไว้ใช้มันในการค้นหาสูตรใหม่ๆได้นะครับ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าครับ